โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย

หลักการและเหตุผล

สังคมชุมชนชนบท เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเป็นอยู่เรียบง่าย สงบสุข พึ่งพาตนเอง และพอเพียง คนในชุมชนรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ก่อให้เกิดความสามัคคีและความร่มเย็นเป็นสุขในชุมชน หากแต่ปัจจุบัน สังคมเมือง อันเป็น “สังคมวัตถุนิยม” ที่ให้ความสำคัญแก่วัตถุ มุ่งเน้นแสวงหากำไร และความร่ำรวย ก้าวล้ำเข้ามีอิทธิพลต่อชุมชนชนบท ชุมชนขาดความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ อาทิ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญกรรม และปัญหาขาดประชากรวัยทำงานในพื้นที่ เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อร่วมกันสร้างความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และประชาชนทุกหมู่เหล่า เห็นสมควรจัดทำ “โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง บ้าน (ชุมชน) วัด และโรงเรียน (ราชการ) บูรณาการสร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็น

ข้อมูลพื้นที่

  • ที่ตั้ง ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของจังหวัดสกลนคร ห่างจากอำเภอเมืองสกลนคร ประมาณ ๓๕ กิโลเมตร
  • สภาพภูมิศาสตร์ พื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำพุงไหลผ่าน
  • ประชากร ประมาณ ๔,๕๐๐ คน (๗ หมู่บ้าน ๑,๑๙๔ หลังคาเรือน)
  • การปกครององค์การบริหารส่วนตำบลเต่างอย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเต่างอยทั้งตำบล
  • อาชีพทำนาข้าวเป็นอาชีพหลัก
  • ระบบชลประทาน มีอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ และอ่างเก็บน้ำเครือ เขาปลอก


วัตถุประสงค์

  • เพื่อให้คนในพื้นที่ชุมชนเต่างอย เรียนรู้ และเข้าใจ ศาสตร์ของพระราชา (หลักทรงงาน และการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริ)
  • เพื่อให้ประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ภาคการเกษตรในพื้นที่ชุมชน
  • เพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน (ปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่)
  • เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน (บวร : บ้าน วัด โรงเรียน) ให้มีความสามัคคี สงบสุข เอื้อเฟื้อเกื้อกูล
  • เพื่อให้ความสนับสนุนนโยบาย “ชุมชนเข้มแข็ง” ของภาครัฐ
  • เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และสร้างการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมท้องถิ่น
  • เพื่อปรับทัศนคติของชาวบ้าน ที่มีต่อโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย)


เป้าหมาย

  • จัดตั้งโรงวิจัยพืชและแปลงสาธิต ๑ แห่ง ประกอบด้วย อาคารที่ทำการ ๑ หลัง มีพื้นที่ใช้สอย ๑๐๐ ตารางเมตร อาคารเพาะชำ ๓ หลัง มีพื้นที่ใช้สอยรวม ๒๑๖ ตารางเมตร
  • ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค วัด โรงเรียน และสถานีอนามัยให้ได้มาตรฐาน
  • นำนักเรียน นักศึกษา และผู้นำชุมชน ทัศนศึกษาโครงการพระราชดำริ จำนวน ๒๐๐ คน


แผนงาน

ขั้นตอนดำเนินงาน “โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย” ประจำปี ๒๕๕๕ สามารถแบ่งแผนงาน ได้ ๓ แผนงาน ดังนี้:~

  • แผนงานก่อสร้างโรงวิจัยพืชและแปลงสาธิตเพื่อนำองค์ความรู้และการบริหารจัดการด้านการเกษตรของมูลนิธิโครงการหลวงมาขยายผล และเป็นการลดต้นทุนในการผลิตวัตถุดิบในไร่ อาทิ การบริหารจัดการเพาะเมล็ด การเลี้ยงต้นกล้า และเทคนิคการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนเต่างอย โดยโรงวิจัยพืชและแปลงสาธิต จะจัดตั้งที่พื้นที่ราชพัสดุ ด้านทิศตะวันตกของอาคารโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) ประกอบด้วย อาคารสำนักงานและโรงเก็บของ โรงเรือนเพาะชำ และแปลงสาธิต โดยใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๔,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (รายละเอียด ตามเอกสารแนบ ๑)
  • แผนงานปรับปรุงสาธารณูปโภคโรงเรียนนางอยโพนปลาโหลเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ของโรงเรียนนางอยโพนปลาโหล ที่ชำรุดทรุดโทรมให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม โดยงานปรับปรุงสาธารณูปโภคโรงเรียนนางอยโพนปลาโหล ประกอบด้วย งานปรับปรุงอาคารห้องน้ำ งานปรับปรุงถนนภายในบริเวณโรงเรียน งานปรับปรุงสนามเด็กเล่นและเครื่องเล่นต่างๆ และงานปรับปรุงพื้นใต้ถุนอาคารเรียน โดยใช้งบประมาณปรับปรุงประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (รายละเอียด ตามเอกสารแนบ ๒ และ ๓)
  • แผนงานส่งเสริมการเรียนรู้ศาสตร์แห่งองค์พระราชา (หลักการทรงงาน และโครงการพระราชดำริ) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้นำทางความคิดในชุมชนเต่างอย เรียนรู้ เข้าใจ และรับทราบถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และน้อมนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ประยุกต์ใช้กับชุมชนเต่างอยได้อย่างเหมาะสม โดยงานส่งเสริมการเรียนรู้ศาสตร์แห่งองค์พระราชา จะได้นำนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้นำทางความคิดในชุมชนเต่างอย ๒๐๐ คน ทัศนศึกษาโครงการพระราชดำริต่างๆ ตลอดจนเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำชุมชนต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยใช้งบประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท

งบประมาณ

ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเป็นจำนวนเงินประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท โดยถือจ่ายจากงบประมาณมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้แก่ บริษัท เอสซีจี เน็ตเวิร์ค แมเนจเม้นท์ จำกัด บริษัท อินทีเรียอาร์คิเทคเชอร์ ๑๐๓ จำกัด บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เดคคอร์ วิวอง จำกัด

หมายเหตุ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่รวมค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ดของสำนักงานทรัพย์สินฯ

ระยะเวลาการทำงาน

กำหนดระยะเวลาโครงการประมาณ ๑๘๐ วัน (กรกฎาคม ~ ธันวาคม ๒๕๕๕)

ผู้รับผิดชอบโครงการ

สำนักงานผู้แทนพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • กองบริหารงานก่อสร้าง  การประมาณราคากลางงานก่อสร้าง และตรวจรับงาน
  • มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  งบประมาณ
  • บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด    งบประมาณ
  • บริษัท เอสซีจี เน็ตเวิร์ค แมเนจเม้นท์ จำกัด  รายการสินค้า และวัสดุก่อสร้าง
  • บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน)  งานปรับปรุง และงานก่อสร้าง
  • บริษัท อินทีเรียอาร์คิเทกเชอร์ ๑๐๓ จำกัด  การจัดทำแบบงานปรับปรุง และงานก่อสร้าง


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • เผยแพร่หลักทรงงาน และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริ
  • ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน และระบบระบายน้ำ รองรับการใช้งานสาธารณะชุมชน
  • ภาพลักษณ์ที่เป็นบวกต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
  • การดูแลรักษาสินทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนเต่างอย
  • การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนในชุมชน หน่วยงานราชการ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

 

 
You are here: Home ประโยชน์สุขชุมชน